น้ำหนักกับทิศทางของลูกฟุตบอล อันไหนสำคัญกว่ากัน

คลิกเพื่อแสดงความคิดเห็น

น้ำหนักกับทิศทางของลูกฟุตบอล อันไหนสำคัญกว่ากัน

วันที่ 18 ส.ค. 2557 เวลา 21.30 น...  ในช่วงเย็นของวันนี้ ในการเดินทางไปสนามฟุตบอล ผมติดดิสก์กรวยหรือกรวยต่ำ เข้าไปในสนามฝึกซ้อมประมาณ 20 อัน เพราะเห็นเหล่าบรรดาลูกศิษย์ตัวน้อย ใส่ชุดกีฬาวิ่งเล่นเตะลูกตระกร้อกันในสนามฟุตบอล ฮั่นแหน่ะ บอลมีกี่ลูกกี่ลูก หายหมด ไม่รู้จักเก็บกันดีนัก ทำมาเป็นเตะตะกร้อให้โค้ชเห็น..  ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับว่า ลูกศิษย์ของผมอายุเฉลี่ยก็ประมาณ 12-13 ปี แต่ตัวเล็กกันเหลือเกิน อีกสัก 2-3 ปี คงจะรู้ว่าใครจะมีแนวโน้มรูปร่าง ความสูงอย่างไร..

น้ำหนักและทิศทางของลูกฟุตบอล มีความสำคัญทั้ง 2 อย่าง

เมื่อผมไปถึงสนามฟุตบอล ประมาณ 16.30 น. ก็ได้เรียกรวมลูกศิษย์ การปกครองของผม หากใครออกนอกรีต ก็จะมีบทลงโทษเป็น วิตพิ้น 5 ครั้ง ใครพูดแหลมออกมาก็วิตพิ้น 5 ครั้ง ใครไม่ตั้งใจก็วิตพื้น 5 ครั้ง ... เมื่อเด็กๆมาถึง ผมก็พาพวกเขาวิ่งไปกลับ สนามฟุตบอลความยาวประมาณ 50 เมตร 10 รอบ ต่อด้วยการยืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง... ก่อนยืดผมจะถามเขาเสมอว่า คนไหนตึงบริเวณไหน .. เด็กๆก็จะบอกว่ารู้สึกตึงตรงนั้น ตึงตรงนี้..  จากนั้น ผมก็พาเขายืดตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ..ใช้เวลารวมประมาณ 15  นาที .. เด็กๆ จะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อพวกเขายืดเสร็จตามท่ายืดที่ถูกต้อง คือ พวกเขาจะรู้สึกตัวเบาขึ้น.. ผมเลยบอกว่า นักฟุตบอลอาชีพเขาฝึกวิชาตัวเบาแบบนี้กันทั้งนั้นแหล่ะ เขาทำทุกวัน ทำเช้า ทำเย็น

พอการทำงานของข้อต่อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อเป็นไปได้ด้วยดี  ผมให้เด็กๆ วิ่งสปริ้นระยะ 30 เมตร จำนวน 5 รอบ..  พวกเขาจะตื่นเต้นที่รู้สึกว่าวิ่งได้เร็วขึ้น..ต่อจากนั้น ผมนำกรวยจำนวน  20 อัน วางในลักษณะสลับฟันปลา เพื่อให้พวกเขาวิ่งลักษณะสไลด์ข้างไปยังมาร์กหรือกรวยแต่ละอันที่วางไว้จำนวน 5 รอบ.. 

ถึงเวลาเล่นกับบอล ผมค่อนข้างเข้มงวดเกี่ยวกับเบสิกพื้นฐานก่อนเป็นอันดับแรก .. ผมให้พวกเขาแปบอล โดยลักษณะออกบอลสั้น ออกบอลยาว โดยเริ่มจาก สามารถจับบอลได้หรือเล่น 2 จังหวะ  เปลี่ยนเป็นการให้บอลจังหวะแรก หรือจังหวะเดียว เมื่อทุกๆอย่างเริ่มดูเข้าท่า

ถึงช่วงเวลาที่เด็กๆชอบมากที่สุด คือช่วงเวลาของการทำประตู   วันนี้ ผมสอนวิธียิงลูกฟุตบอล โดยโยนบอลให้เด็กๆรับ จากนั้นให้พวกเขาโยนบอลให้ลอยสู่อากาศอีกครั้ง และวอลเล่ย์ โดยให้วิถีของลูกฟุตบอลเรียดต่ำ  เป้าหมายคือยิงให้เข้าประตูเล็ก (โกล์หนู )  บางคนเตะโด่ง เพราะเมื่อเตะไปแล้วปลายเท้าชี้ฟ้า  ผมเลยบอกว่า.. ให้เหยียดปลายเท้า และส่งเท้าไปข้างหน้า ถ้าเราส่งเท้าขึ้นฟ้า บอลก็จะลอยโด่ง แต่ถ้าเรากดลำตัวลง ส่งเท้าฟอลโล่ทรูไปข้างหน้า วิถีของลูกก็จะพุ่งตรงขนานกับพื้นไปด้วยความรุนแรง... 

เด็กๆทำได้ดี ผมให้คะแนนพวกเขาสำหรับแบบฝึกนี้ 8 เต็ม 10 

การที่เราสอนเด็ก ต้องเข้าใจเด็กๆว่า  ในใจพวกเขาจะคิดอยู่เสมอว่า หนูทำดีแล้วหรือยัง การตั้งมาตรฐานเป็นคะแนนความสามารถเต็ม 10 เต็ม 100 จะทำให้เด็กๆ มีความพยายามเอาชนะเป้าหมาย และสนุกกับมัน

พอจบเรื่องของเด็กๆ ผมก็ออกกำลังกายด้วยการเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ ซึ่งในปลายปี ก็จะรวมตัวกันไปแข่งฟุตบอลในระดับจังหวัด ตัวแทนอำเภอ โดยผมมีหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอน และควบคุมทีม ในตอนนี้ยังอีกหลายเดือนกว่าจะแข่ง ผมเลยให้พวกเขามาเล่นกันในทุกๆวัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับลูกฟุตบอล  วัฒนธรรมที่ผมวางไว้ คือ มาถึงต้องวิ่งวอร์ม ต้องยืด และเล่นลิง 3 ข้อนี้ ต้องทำ ที่เหลือให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะต่างคนก็มีหน้าที่การงาน ซึ่งการฝึกซ้อมแบบหนักหน่วง คงมีปัญหากับทางบ้านหรือการงานเป็นแน่..

การเล่นลิงชิงบอลด้วยการเล่นหรือสัมผัสฟุตบอลจังหวะเดียว ทำให้หลายๆคนออกบอลได้ดีขึ้น น้ำหนักดี ทิศทางดี  ความเร็วของเกม ปฏิกิริยาของพวกเขาดีขึ้น โดยที่อาจไม่รู้ตัว หากไม่มีการสังเกตจากภายนอกสนามโดยผู้อื่น  บางคนเล่นดีถึงขนาดหลายๆ ทีมสนใจดึงไปร่วมทีม แต่ด้วยการรีบร้อนมีเมียมากเกินไป  มีลูกตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี ทำให้มีหลายๆอย่างฉุดรั้งเขาอยู่ อันนี้ก็ต้องเข้าใจ  ผมมองว่า เซ้นส์บอลขนาดนี้ ผู้จัดการทีมคนไหนได้ไปคงชอบแน่ๆ เพราะมีทั้งความเร็ว คล่องตัวสูง ออกบอลแม่น ความฟิตเป็นเลิศ ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย .. อาจเป็นเพราะการทำงานหนักในอาชีพรับจ้างแบกข้าว แบกข้าวโพดเป็นประจำ  ... สิ้นปีนี้ จะเอาหมอนี่ไปวาดลวดลายให้ เพชรบูรณ์ เอฟซี น้ำลายไหล.. ฮ่าๆๆ

มีแว๊บหนึ่งของความคิด หลังจากที่เลิกเล่นฟุตบอลในช่วงเย็น  ผมรู้สึกว่ายังไม่เหนื่อย เพราะวันนี้คนค่อนข้างเยอะ ผมเลยเรียกเหงื่ออีกนิดหน่อย ด้วยการชิพบอลจากระยะประมาณ 30 เมตร ให้เข้าโกล์หนู  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ  ...
เราโยนบอลด้วยน้ำหนักที่พอดิบพอดี ลูกฟุตบอลก็ยังคงเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ใกล้ๆ กรอบประตูเล็ก

แต่ในขณะที่ เราโยนบอลแรงเกินไป น้ำหนักมากไป หรือเบาไป  ลูกฟุตบอลไม่มีโอกาสที่จะเฉี่ยวกรอบประตูหนู ที่ผมตั้งเอาไว้เลย

......... ทำให้นึกย้อนไปถึงลูกยิงฟรีคิ๊ก ในโทรทัศน์หรือในทีวี...

น้ำหนักของลูกฟุตบอลที่ส่งจากเท้านักฟุตบอลไป หากพอเหมาะพอเจาะก็ได้ลุ้น...!!!!!

ลูกที่ยิงทิศทางไม่ดี แต่น้ำหนักใช้ได้ โอกาสที่จะสร้างความหวาดเสียว หรือได้ลุ้นมีสูงกว่า

การยิงทิศทางดีแต่น้ำหนักไม่ได้เรื่อง แรงไปก็ข้ามคาน เบาไปก็ติดกำแพง...

ลูกฟุตบอลที่ส่งจากเท้าเราหากน้ำหนักชั่งทอง ไม่จำเป็นต้องเข้ามุมเป๊ะ ก็สร้างปัญหาให้กับผู้รักษาประตูแน่นอน

... ในศึกฟุตบอลโลกที่ผ่านมาหากยังจำได้  อังเดร เปียโร่ ซัดฟรีคิ๊กระยะมากกว่า 30 หลา ลูกฟุตบอลพุ่งไปเหนือศีรษะผู้รักษาประตู ตรงกลางประตูเลย.. แต่น้ำหนักสุดยอด บอลหล่นใส่คาน..ดังสนั่น...

กำแพงขนาดนี้ ใครยิงฟรีคิ๊กแน่ๆ คงต้องยอม ฮ่าๆๆ 

...

ผมจึงอยากให้เพื่อนระลึกถึงความสำคัญของน้ำหนัก ในการแปบอล ในการวางบอล โยนบอล ไปตามระยะต่างๆ  เช่นตั้งใจโยนบอลยาว ให้ตกประมาณ 40 เมตร บอลก็ควรที่จะต้องตกในระยะ 40 เมตร หรือใกล้เคียง  เพราะหากเราเป็นผู้เล่นในตำแหน่งกองกลาง  โยนบอลแรงไปก็ถึงมือผู้รักษาประตู หรือออกหลัง  โยนเบาไปแม้ทิศทางตรง ก็ไม่ข้ามหัวกองหลังหรอกครับ..

เมื่อเราฝึกซ้อมวางบอลจนรู้ถึงน้ำหนัก ในการจ่ายบอลตามระยะต่างๆ สิ่งที่ต้องทำต่อมา คือการปรับทิศทางให้แน่นอนขึ้น

ถึงแม้ว่าเราโยนบอลให้บอลตกระหว่าง พื้นที่ระหว่างกองหลัง กับผู้รักษาประตู  น้ำหนักที่ดีจึงสำคัญกว่าทิศทาง เพราะทิศทางอาจเพี้ยนนิดเพี้ยนหน่อย แต่ความอันตรายก็ย่อมมีอยู่ ดีกว่า การโยนบอลเบาไปหรือแรงไป ตามที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น

นี่เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผม ฝึกซ้อมด้วยตนเองครับ ไม่ใช่ทฤษฏี ไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นสิ่งที่อยากให้เพื่อนๆ ร่วมกันพิสูจน์ว่าจริงไหม

 



แสดงความคิดเห็น



© 2021 ball2night.com, All rights reserved   View Stats